อย่างที่ใครๆ บอก “การมีความสุข” มักจะทำให้เกิดสิ่งดีๆ ตามมาเสมอ
อาจเป็นคำกล่าวที่ชาวไมเกรนหลายๆ คน คงจะแอบได้ยินกันอยู่บ่อยๆ แต่เชื่อเหลือเกินเลยว่า
.
เวลาคนเรามีความสุขแล้ว อะไรๆ มักจะดีไปหมดแหละ เราก็จะคิดดี มองอะไรก็สดใส
และนั่นก็เพราะร่างกายเรากำลังหลั่งสารเคมี หรือที่เราเรียกว่า “ฮอร์โมน” ของความสุขอยู่
.
การที่เรามีสมดุล ทางความคิด ทางอารมณ์ความรู้สึก ก็จะเป็นปัจจัยที่ช่วยให้เราสุขภาพดีได้นั่นเอง
.
ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจกับคำว่า “ฮอร์โมน” กันก่อน ว่ามันคืออะไรกัน?
.
ฮอร์โมน ก็คือ สารเคมีที่ผลิตโดยต่อมไร้ท่อต่างๆ ทั่วร่างกาย ซึ่งหนึ่งในหน้าที่ของเจ้าฮอร์โมน นั่นก็คือ
ช่วยควบคุมอารมณ์ของเรานั่นเอง
.
วันนีสไมล์ ไมเกรน จะพาชาวไมเกรนมาทำความรู้จักกับ “ฮอร์โมนความสุข” กันดีกว่า
และเราจะมาดูกันว่า ฮอร์โมนแต่ละตัว สามารถช่วยเรื่องอะไรกันบ้าง ไปติดตามกัน
.
ตัวฮอร์โมนแห่งความสุข จะมีหลักๆ อยู่ทั้งหมด 4 ตัว
1) Dopamine (โดปามีน) หรือที่รู้จักกันว่าเป็น “ฮอร์โมนฟีลกู๊ด” โดยโดปามีนนี้ เป็นสารสื่อประสาทที่ถูกหลั่งมาจากไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) เป็นฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมอารมณ์และความรู้สึก
โดยเฉพาะอารมณ์พึงพอใจ ความปิติยินดี หรือแม้กระทั่งจะหลั่งมาในช่วงเวลาที่เราทำกิจกรรมที่ชอบ
จากการทดลองในหนู พบว่า เมื่อทำให้หนูเกิดความพึงพอใจ ระดับของโดปามีนจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งในขณะที่โดปามีนถูกหลั่งออกมาจากสมอง จะทำให้เกิดความสุข เรียกว่า reward circuit
หรือ ทางการแพทย์ เราจะเรียกว่า ระบบการให้รางวัลของสมอง
หากถูกกระตุ้นด้วยพฤติกรรมเดิมซ้ำ ๆ ก็จะหลั่งโดปามีนออกมาตามปกติ แต่หากไม่ถูกกระตุ้นหรือทำกิจกรรมอื่นที่ไม่ใช่กิจกรรมเดิม สารโดปามีนก็จะหยุดทำงาน ทำให้รู้สึกหงุดหงิด โมโหหรือเซื่องซึม
และถ้าสารโดปามีนในร่างกายของคนเรา ลดระดับต่ำลงมากจนเกินไป จะทำให้รู้สึกหดหู่และเสี่ยงต่อการเกิดซึมเศร้าได้
2) Serotonin (เซโรโทนิน) ตัวนี้คือตัวสำคัญ ในเรื่องของการปรับสมดุลความรู้สึก เป็นสารสื่อประสาทที่จะส่งผลต่อกระบวนการคิด พฤติกรรม และอารมณ์ หากมีในปริมาณที่สมดุลก็จะทำให้สุขภาพจิตดี อารมณ์ดี มีสมาธิ ช่วยให้คิดและตัดสินใจได้ดียิ่งขึ้น
รวมทั้งยังช่วยให้มีความสุขหรือรู้สึกดีได้ง่ายขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นโดยสิ่งที่ชอบหรือพึงพอใจ แต่ถ้ามีในระดับที่ต่ำกว่าปกติเป็นเวลานานอาจส่งผลให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคเครียด หรือสมาธิสั้นได้
3) Oxytocin (ออฟซิโตซิน) หรือที่เรารู้จักกันว่าเป็น “ฮอร์โมนแห่งความรัก” ชื่อก็บอกอยู่แล้วเนอะว่าเป็นฮอร์โมนแห่งความรัก มักจะหลั่งมาตอนที่ผู้หญิงคลอดลูก การให้นมลูกให้มีน้ำนมที่เพียงพอต่อลูก เป็นสารสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างแม่และลูก
แต่หากเป็นสาวๆ ที่มีแฟนหรือคนรัก ฮอร์โมนตัวนี้ก็เหมือนฮอร์โมนคลั่งรัก ที่จะรู้สึกดีทุกครั้งที่มีการกอด การสัมผัส หรือเราเรียกว่า skinship นั่นเอง
4) Endorphins (เอ็นดอร์ฟิน) เป็นฮอร์โมนที่มักจะหลั่งออกมาหลังจากออกกำลังกายและทำกิจกรรมบางอย่าง ซึ่งช่วยให้รู้สึกดีหรือสบายตัว
แต่โดยพื้นฐานรากศัพท์แล้ว เอ็นโดรฟิน เป็นฮอร์โมนที่ช่วยบรรเทาอาการปวดตามธรรมชาติที่ผลิตจากภายในร่างกาย ที่มาจากคำว่า Endogenous ที่หมายความว่า จากภายในร่างกาย และคำว่า Morphine ที่หมายถึงสารบรรเทาอาการปวดนั้นเอง เป็นฮอร์โมนที่ถูกปล่อยมากจากระบบประสาทส่วนกลางและต่อมใต้สมอง เพื่อตอบสนองต่อความเจ็บปวดหรือความเครียด
จึงทำให้เมื่อ เอ็นโดรฟินหลั่งทำให้รู้สึกมีความสุข เคลิบเคลิ้ม อิ่มอกอิ่มใจ คลายเครียด ทำให้อยากอาหารมากขึ้น ช่วยหลั่งฮอร์โมนเพศ และเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันนั่นเอง
.
สไมล์ ไมเกรน ได้รวมรวมและขอแชร์ทริคการเพิ่มฮอร์โมนแห่งความสุขด้วยตัวเอง แบบฉบับง่ายๆ สามารถทำได้ทุกวันกัน
- ออกกำลังกายเป็นประจำ ประมาณ 20-30 นาทีต่อวันขึ้นไป
- หาเวลาทำกิจกรรมหรือสิ่งที่ตัวเองชอบเป็นประจำ
- ให้ความสำคัญในการทานอาหารในแต่ละมื้อ ควรที่จะทานให้ครบ 5 หมู่ เพราะฮอร์โมนบางตัวถูกสังเคราะห์มาจากโปรตีน
- แสดงความรักกับคนที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส การกอด
- นั่งสมาธิ ทำจิตใจให้สงบ
- รู้เท่าทันความเครียด และหาวิธีจัดการในแบบฉบับของเรา
- ทำให้วงจรการนอนหลับของร่างกาย มีประสิทธิภาพ
- ฮีลใจตัวเองด้วยสัตว์เลี้ยง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เขามักจะอยู่ในทุกช่วงอารมณ์ของเรา ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ ดีใจหรือเสียใจ มีนักวิทยาศาสตร์ ได้บอกไว้ว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์เลี้ยง สามารถช่วยให้ร่างกายของคนเราสร้างสาร oxytocin (ออฟซิโตซิน) ออกมา ซึ่งเป็นสารที่สร้างออกมาเช่นเดียวกับเวลาที่มารดาคลอดบุตร
จะเห็นได้ว่าฮอร์โมนความสุขนี้ เกิดขึ้นได้เองตามธรรมชาติตามกลไกของร่างกาย และเราสามารถออกแบบเองได้ ไม่ได้มีสุตรสำเร็จตายตัว เรามีหน้าที่ทำให้ฮอร์โมนแห่งความสุขนี้สมดุล ไม่มากเกินไป หรือไม่น้อยเกินไป เพียงเท่านี้ หัวใจเราก็จะพองโตแล้ว :)