ถ้าคุณได้มีโอกาสรู้จักเจ้าไมเกรนแล้ว ก็มีโอกาสสูงมากที่คุณจะได้รู้จักกับเพื่อนที่เป็นโรคร่วมของโรคไมเกรนอีกด้วย โรคร่วมเหล่านี้ มีทั้งโรคจากทางจิตใจ และ โรคจากทางกาย
วันนี้สไมล์ ไมเกรน เราจะมาเล่าให้ฟังกันว่า เพื่อนร่วมโรคของเจ้าไมเกรนมีอะไรกันบ้าง
.
1. โรคซึมเศร้า
ซึมเศร้าเป็นโรคที่พบได้บ่อยถึง 40% เลยในคนไมเกรน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นไมเกรนเรื้อรัง (ปวดมากกว่า 15 วันต่อเดือน) จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นไปอีก 2 เท่าเลยทีเดียว หรือในคนไข้บางคนอาจจะมีอาการซึมเศร้ามาก่อนไมเกรนก็เป็นได้ เนื่องจาก ทั้งสองโรคนี้มีความเหมือนกันเกี่ยวเนื่องกับสารเคมีในสมองอย่าง ซีโรโทนิน (Serotonin)
2. โรควิตกกังวล
สำหรับชาวไมเกรนที่เป็นไมเกรนเรื้อรัง มีแนวโน้มที่จะเป็นโรควิตกกังวลมากกว่าซึมเศร้าเสียอีก และโรคไมเกรนและโรควิตกกังวล เป็นความสัมพันธ์แบบสองทิศทาง “เป็นไมเกรนแล้ววิตกกังวล พอวิตกกังวล ก็เป็นไมเกรน”
.
ตามรายงานของ American Migraine Foundation พบว่ากว่า 50% ของชาวไมเกรนมักมีภาวะวิตกกังวลร่วมด้วย จะไม่ให้กังวลได้ไงอ่ะเนอะ เพราะเราไม่รู้เลยว่าเมื่อไหร่มันจะปวดนี่หน่า
3. โรคหลอดเลือดสมองตีบ
จากการศึกษาในงานวิจัยหลายฉบับพบ ความเชื่อมโยงระหว่างโรคไมเกรนและโรคหลอดเลือดสมองตีบ โดยเฉพาะชาวไมเกรนที่มักมีอาการมีอาการนำ (Migraine with aura) จะมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่าเลยทีเดียว
.
และความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้น เมื่อชาวไมเกรนคนนั้นเป็นผู้หญิงที่สูบบุหรี่ และทานยาคุมกำเนิด ดังนั้น วิธีลดความเสี่ยงดังกล่าว คือการควบคุมความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด และระดับคอเลสเตอรรอล ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ดีไม่ดี ออกกำลังกายบ่อยๆ ไมเกรนก็หายไปด้วยนะเอ่อ
4. โรคหัวใจ
นอกจากโรคร้ายที่น่ากลัวอย่างโรคหลอดเลือดสมองแล้ว ชาวไมเกรนทั้งผู้ชายผู้หญิงที่มีอาการนำ มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหัวใจเช่นกัน OMG!
5. โรคอ้วน
พูดแล้วเจ็บปวดกับคำว่า “อ้วน” จริงๆ แต่ชาวไมเกรนที่มีน้ำหนักเกิน จะทำให้ไมเกรนของคุณแย่ลงได้นะ
.
ภาวะอ้วน นั้นหมายถึง การที่เกิดการสะสมไขมันในชั้นเนื้อเยื่อเยอะจนเกินไป
ซึ่งวิธีการดูว่าเรามีภาวะอ้วนหรือไม่ เราจะคำนวณจากค่าดัชนีมวลกาย (BMI)
โดยสามารถคำนวณจาก น้ำหนัก (kg.) / ส่วนสูง (cm.)2
.
ของคนเอเชีย ถ้าดัชนีมวลกายมากกว่า 25 ขึ้นไป จะถือว่ามีภาวะอ้วน
.
ภาวะอ้วน จะเกี่ยวกับเซลล์ไขมัน ที่อยู่บริเวนหน้าท้อง ต้นขา หรือแม้กระทั่งแก้มน้อยๆของเรา
จะสร้างโปรตีนชนิดหนึ่ง ที่เราเรียกว่า Adiponectin
.
จะไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบของร่างกาย และหลั่งฮอร์โมนที่ทำให้เกิดอาการปวดได้
.
จากการศึกษาในงานวิจัยหนึ่ง พบว่า กลุ่มคนที่มีน้ำหนักเกินที่เป็นไมเกรนหลังจากที่ได้รับการผ่าตัดลดความอ้วนและลดน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 66 ปอนด์ หรือประมาณ 29 กิโลกรัม ทำให้ไมเกรนลดความถี่ลงได้ด้วยนะ
6. โรคพังผืดกล้ามเนื้ออักเสบ
พังผืดกล้ามเนื้ออักเสบ มักจะมากับ “จุดกดเจ็บ (trigger point)” เป็นจุดที่ไวต่อแรงกดมากๆ และอาจมีปวดร้าวลามไปบริเวณอื่นของร่างกายได้ เราเรียกกันว่า “referred pain” (refer นั่นก็แปลว่า ส่งต่อ)
อย่างที่ชาวไมเกรนหลายๆคนเคยเป็น กดที่บ่า ปวดร้าวไปท้ายทอยหรือขมับ
.
มีนักวิจัย Calandre และคณะ ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับตัว Trigger point คนไข้ไมเกรน พบว่าจำนวนของจุดกดเจ็บ จะสัมพันธ์กับความถี่และความรุนแรงของอาการปวดศีรษะไมเกรนนั่นเอง นั่นก็หมายความว่า ถ้ายิ่งจุดกดเจ็บของเรามีปริมาณที่มาก จะทำให้ความถี่และความรุนแรงของอาการปวดศีรษะไมเกรน ก็จะมีระดับที่สูงไปด้วย
7. โรคภูมิแพ้
คนที่เป็นโรคภูมิแพ้จะเข้าใจ เป็นทีนึง น้ำมูกน้ำตาไหลเหมือนเขื่อนแตก มันเนื่องมาจากเส้นประสาท parasympathetic ถูกกระตุ้นนั่นเอง
.
สามารถเป็นได้ทั้งข้างเดียว หรือ สองข้าง ในงานวิจัยหนึ่ง พบได้มากถึง 20% ที่ตาบวมๆ เหมือนคนร้องไห้
8. โรคนอนกรน
“ภาวะนอนกรน” มักจะสัมพันธ์กับภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งสามารถเพิ่มความถี่ของอาการปวดศีรษะไมเกรนได้ นั่นเป็นเพราะ สมองของเราอาจจะได้รับออกซิเจนที่ไม่เพียงพอนั่นเอง
การรักษาโรคร่วมไมเกรนควบคู่ไปกับการรักษาโรคปวดศีรษะไมเกรน ถือว่ามีความสำคัญมากๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคร่วมทางกายหรือโรคทางจิตใจ
.
เพราะบางที สิ่งกระตุ้นบางตัว อาจจะทำให้เพิ่มความรุนแรงทั้งสองโรคได้ อย่างเห็นได้ชัด นั่นก็คือ ความเครียด ความวิตกกังวล เหมือนเป็นความสัมพันธ์สองทิศทาง
.
และบางครั้งการที่เรามีโรคร่วมอื่นๆ ด้วย จะทำให้แพทย์พิจารณาใช้ยาป้องกันได้เหมาะสมกับตัวเรามากขึ้น
และสามารถช่วยรักษาได้ทั้ง 2 โรค เช่น ยาในกลุ่มต้านเศร้า หรือแม้กระทั่งยาตัวไหนที่มีผลข้างเคียงในเรื่องของทำให้เกิดภาวะทางอารมณ์มากขึ้น แพทย์ก็จะเลี่ยงการจ่ายยาตัวนั้น อย่างเช่น ยา Flunarizine มีผลข้างเคียงในเรื่องของเสี่ยงซึมเศร้าได้ง่ายมากขึ้น จึงมีข้อควรระวังในการใช้กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้านั่นเอง
.
การแจ้งและปรึกษาคุณหมอ จึงมีสิ่งสำคัญมากๆ เพื่อให้การรักษาไมเกรนเหมาะสมกับเรามากขึ้นและโรคร่วมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
แหล่งที่มา
https://www.webmd.com/migraines-headaches/can-migraines-lead-to-other-health-conditions
https://www.health.com/condition/headaches-and-migraines/migraine-pain-depression-stroke