ไมเกรนประจำเดือน เรื่องจริงที่ผู้หญิงต้องเจอ

ไมเกรนประจำเดือน เรื่องจริงที่ผู้หญิงต้องเจอ

ไมเกรนประจำเดือน เรื่องจริงที่ผู้หญิงต้องเจอ

หลายคนคงเคยมีประสบการณ์ “ปวดหัว” ในช่วงรอบเดือน เพราะฮอร์โมนเปลี่ยน กันมาบ้าง บางคนปวดหนัก บางคนปวดเบาๆ ทานยาแก้ปวดก็หาย วันนี้เราเลยจะมาไขข้อสงสัยกันว่า “ทำไมช่วงรอบเดือน ทำไมถึงมีทั้งอาการปวดหัว อาการปวดท้อง อ่อนเพลีย เสมือนออกไปรบก็ไม่ปาน” 

.

โดยวันนี้เราจะมาคุยกันในเรื่อง

  • ไมเกรนประจำเดือนคืออะไร
  • ทำไมถึงต้องเป็นไมเกรนประจำเดือน
  • ไมเกรนประจำเดือนรักษาอย่างไร มีวิธีการป้องกันไหม?
  • แล้วถ้าไม่มีประจำเดือน ไมเกรนประจำเดือนจะหายไปไหม?

.

ไมเกรนประจำเดือนคืออะไร?

คำว่า “ไมเกรนประจำเดือน” นั้นหมายถึง อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้น มีความสัมพันธ์โดยตรงกับช่วงรอบเดือนในผู้หญิง โดยทั่วไปแล้วผู้หญิงจะสามารถเกิดไมเกรนได้มากกว่าผู้ชาย 3 เท่า เนื่องจากสิ่งกระตุ้นที่เรียกว่า “ประจำเดือน” โดยไมเกรนในช่วงรอบเดือนนั้นจะเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องฮอร์โมนเพศหญิง ที่ชื่อว่า “ฮอร์โมนเอสโตรเจน” ซึ่งในผู้หญิง แล้วในช่วงนี้ความรุนแรงของไมเกรน จะมากกว่าช่วงอื่นๆ และเป็นปัจจัยกระตุ้นที่หลีกเลี่ยงได้ยาก 

.

สำหรับการเกิดไมเกรนที่สัมพันธ์กับรอบเดือนนั้น สามารถอธิบายได้ด้วยกลไกของการมีประจำเดือนในผู้หญิง ซึ่งตามธรรมชาติแล้วผู้หญิงจะมีรอบเดือนเหมือนนัดหมายในทุกๆ 28 วัน โดยในแต่ละรอบเดือนจะมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นๆ ลงๆ ของฮอร์โมนเอสโตรเจน 

.

ซึ่งการขึ้นลงนี้จะมีผลในการสร้างความหนาของเยื้อบุมดลูกเพื่อรอไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วมาอยู่ในนี้ และการเจริญเติบโตของไข่ โดยในรอบ 28 วันนี้ ทุกวันที่ 14 ของรอบเดือน ไข่จะเริ่มตก มาจากรังไข่ ผ่าน แล้วเยื้อบุมดลูกนี้แหละที่จะให้สารอาหารแก่ตัวอ่อนกรณีมีการตั้งครรภ์ แต่หากไม่มีการผสมของไข่ เยื้อบุเหล่านี้จะสลายตัวออกมาเป็น “ประจำเดือน” นั้นเอง

.

ดังนั้น ในช่วงเวลาตั้งแต่ไข่ตกนี้แหละ ตามธรรมชาติแล้วระดับฮอร์โมน เอสโตรเจน จะค่อยๆ ลดระดับลงมาเรื่อยๆ และจะลดลงมาอย่างรวดเร็วในช่วง 1-3 วันก่อนมีประจำเดือน (Estrogen Withdrawal

.

https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S1474442220304828
 

แต่เมื่อเทียบจากกราฟแล้ว จะเห็นได้ว่าช่วงที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนลดต่ำอย่างรวดเร็ว แต่แถบการการไมเกรนพุ่งขึ้นสูงปรี๊ด ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับก่อนประจำเดือนมา 1-3 วัน ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ในบางคนจะมีความรุนแรงของไมเกรนมากที่สุดในช่วงของประจำเดือน 

.

ทำไมถึงต้องเป็นไมเกรนประจำเดือน

จากที่กล่าวมาข้างต้น ถึงกลไกการเกิดประจำเดือนที่สัมพันธ์กับไมเกรนในผู้หญิงนั้น แล้วกลไกการเกิดไมเกรนนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

.

จะกล่าวไปถึงว่า เซลล์ประสาทของชาวไมเกรนนั้น ถูกสร้างมาให้ไวกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว ดังนั้นมันจึงสร้างคลื่นความปวดเองได้ง่ายขึ้น เมื่อเจอสิ่งกระตุ้นรอบตัว เช่น แสง เสียง กลิ่น และยิ่งเกิดขึ้นได้ง่าย เมื่อเป็นการเปลี่ยนแปลงในร่างกายของเรา อย่างฮอร์โมนแกว่งตัว ดังนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้ เซลล์ประสาทจะสร้างคลื่นไมเกรน ไปกระตุ้นให้หลอดเลือดเกิดการหลั่งสารต่างๆ ที่ทำให้อักเสบ เช่น CGRP, Neurokinin A, Prostaglandin และสารเหล่านี้จะไปกระตุ้นยังเซลล์ประสาทที่ก้านสมองที่ทำหน้าที่รับความปวดของไมเกรน ชื่อเซลล์นี้คือ Trigeminal neucleus caudalis (TNC) แล้วไปแปลผลที่สมองให้รู้สึกว่า “ปวดหัวโว้ยยยยยย” 

.

เช่นนั้น ยิ่งสมองเคยได้รับรู้แล้วว่ามีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นแล้ว เขาก็จะจำว่าเคยเจ็บปวดมาก่อน และยิ่งทำให้เซลล์ประสาทไวมากขึ้น เกิดคลื่นที่ถูกกระตุ้น เกิดสารเคมีความเจ็บปวดเต็มไปหมด ก็จะยิ่งทวีความรุนแรงของอาการปวดมากยิ่งขึ้น จึงเป็นที่มาว่า ถ้าหากปวดหัวแล้ว ไม่รักษา รักษาไม่ดี ทำให้อนาคตตัวโรคสามารถพัฒนาความรุนแรงและความถี่ได้มากยิ่งขึ้น 

.

และเคยมีนักวิทยาศาสตร์เคยศึกษาแล้วว่า ถ้าเราไม่ปวดหัว แต่เราต้องเจอสิ่งกระตุ้นนั้นบ่อยๆ ปล่อยให้ปวดมากยิ่งขึ้น ทนความเจ็บปวดด้วยการไม่ทานยา อดทนให้หายไปเองจะทำให้เซลล์สมองปรับตัวให้ไวกับสิ่งกระตุ้นมากยิ่งขึ้น เกิดเป็นเรื้อรังไปในที่สุดได้

.

ไมเกรนประจำเดือนรักษาอย่างไร มีวิธีการป้องกันไหม?

1. จดบันทึกวันที่เป็นประจำเดือนไว้ ใช้แอปพลิเคชัน Smile Migraine 

โดยในแอปพลิเคชัน ถูกพัฒนาให้สามารถบันทึกในวันนั้นของเดือนได้ พร้อมกับการเปิดแจ้งเตือนเมื่อใกล้ถึงวันนั้นของเดือน ซึ่งการจดบันทึกนี้มีประโยชน์ เพื่อช่วยให้เรารู้ถึงแพทเทินการมาของไมเกรนที่สัมพันธ์กับรอบเดือน เพราะในบางคนไมเกรนมาช่วงไข่ตก บางคนมาช่วงก่อนประจำเดือนมา 1 วัน บางคนเป็นยาวจนถึงวันหมดประจำเดือนเลยก็ได้

.

2. ป้องกันไมเกรนประเดือนด้วยการใช้ยา 

ในวิธีนี้ เราจะแนะนำเฉพาะผู้หญิงที่มีรอบเดือนมาตรงกันทุกเดือน และสม่ำเสมอ แต่หากไม่เข้าเงื่อนไขนี้ จะไม่แนะนำเนื่องจากจะทำให้ทานยาแก้ปวดมากจนเกินไป โดยวิธีนี้เราจะใช้ยาแก้ปวดในการทานดักไมเกรนไว้ ซึ่งยาที่สามารถใช้ได้จะมี 

  • ยากลุ่ม NSAIDs ไม่ว่าจะเป็น ibuprofen, naproxen หรือ ponstand ก็ได้ โดยจะเป็นการทานดักไว้ก่อน 2-3 วันก่อนประจำเดือนจะมา เช้า - เย็น และทานยาต่อไป 3-5 วันก็ได้ แต่ข้อควรระวังของยากลุ่มนี้คือ การระคายเคืองกระเพาะอาหาร ทำให้กระเพาะเป็นแผลได้ ดังนั้นจึงต้องทานหลังอาหารเท่านั้น
  • ยากลุ่ม Triptan หรือยาแก้ปวดที่จำเพาะกับไมเกรน สำหรับกลุ่มนี้ก็ทานเหมือนกับกลุ่ม NSAIDs เช่นกัน และทานต่อเนื่อง 3- 5 วันได้เลย สำหรับผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้คือ ทำให้คลื่นไส้ เวียนหัว ใจสั่น หรือที่เรียกว่า Triptan Sensation และกลุ่มนี้จะต้องทานให้ระมัดระวังไม่เกิน 10 วัน/เดือน เนื่องจากยากลุ่มนี้จะทำให้เกิดภาวะสมองติดยาแก้ปวดได้ (Medication Overuse) 

.

3. ป้องกันด้วยการทานยาป้องกันไมเกรน 

ซึ่งยากลุ่มนี้จะเป็นยาที่ต้องอยู่ภายใต้แพทย์เป็นผู้สั่งให้เท่านั้น จะเหมาะกับผู้หญิงที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ มีความคลาดเคลื่อนสูง หรือผู้ที่มีไมเกรนนอกรอบเดือนด้วยการเจอสิ่งกระตุ้นอื่น เช่น แสงจ้า ความร้อน หนาวจัด อากาศเปลี่ยน เป็นต้น 

.

โดยกลุ่มยาป้องกันไมเกรนนั้นจะมีหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มยากันชัก ยาลดความดัน ยาขยายหลอดเลือด ยาต้านเศร้า และกลุ่มวิตามิน แร่ธาตุสำหรับลดไมเกรน ได้แก่ แมกนีเซียม, Riboflavin (B2), CoQ10 เป็นต้น ซึ่งประสิทธิภาพว่าลดความรุนแรงของไมเกรนได้มากน้อยแค่ไหน หรือผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น ก็จะขึ้นอยู่กับบุคคลเลย จึงเป็นที่มาว่าทำไมต้องจ่ายโดยแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น

.

แต่ถ้าหากอยากลองทานเป็นกลุ่ม magnesium ก่อนก็สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ในขนาดสูง 400 - 600 mg ต่อวัน ต่อเนื่องกันประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนที่ประจำเดือนจะมา ซึ่งวิธีนี้จะสามารถลดความรุนแรงของไมเกรนได้ มีความปลอดภัยสูง ไม่มีผลข้างเคียงจากการใช้อย่างแน่นอน เนื่องจากได้มีการศึกษาในการนำแมกนีเซียมมาใช้ในการรักษาไมเกรนช่วงรอบเดือนอยู่บ้าง 

.

4. ป้องกันด้วยการไม่ใช้ยา 

ซึ่งวิธีนี้อาจเป็นตัวช่วยเสริมในการลดไมเกรนได้ ทั้งที่เป็นไมเกรนในรอบเดือนและนอกรอบเดือนด้วยเช่นกัน ได้แก่

  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำเปล่าให้ได้วันละ 1.5 ลิตรขึ้นไป เพื่อลดการขาดน้ำ
  • หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดไมเกรน
  • ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที ให้ได้ 3 วัน/สัปดาห์
  • จัดการความเครียดให้ได้

ทั้งนี้ เราเองก็เข้าใจนะว่าวิธีสุดท้าย เป็นวิธีที่ง่าย ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ในทางปฏิบัติแล้วทำได้ยากเหลือเกิน จับมือกอดๆ กันเถอะ 

.

แล้วถ้าไม่มีประจำเดือน ไมเกรนประจำเดือนจะหายไปไหม?

โดยปกติแล้วเรามีความเชื่อว่า เมื่อถึงวัยหมดประจำเดือนไปแล้ว หรือช่วงที่กำลังตั้งครรภ์ ไม่มีการเกิดกลไกของประจำเดือน ก็จะไม่มีไมเกรนเกิดขึ้น แต่ในบางคนก็ไม่ใช่แบบนั้น เพราะ

  • ช่วงตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงแรก และจะคงที่สูงตลอดการตั้งครรภ์ จึงทำให้ช่วงที่ตั้งครรภ์ในหลายคนไมกรนหายไปเลย แต่ให้ระวังว่าหลังตั้งครรภ์ฮอร์โมนตัวนี้จะดรอปอย่างรวดเร็ว อาจเป็นที่มาของไมเกรนช่วงหลังคลอดในบางคนหนักกว่าเดิมได้ รวมกับปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น นอนน้อย เครียด พฤติกรรมในชีวิตประจำวันหลายอย่างเปลี่ยนไป 
  • ช่วงวัยหมดประจำเดือน หลายคนพอหมดประจำเดือนแล้วไมเกรนดีขึ้น หรือแทบไม่เคยปวดไมเกรนอีกเลย แต่ก็มีหลายคนที่อาการไมเกรนแย่ลงกว่าเดิม ได้เคยมีการศึกษาในผู้หญิง 3,664 คน อายุเฉลี่ย 46 ปี เพื่อดูว่าอาการปวดหัวบ่อยๆ เกิดขึ้นมากน้อยเพียงใดในช่วงต่างๆ ของการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน โดยจะแบ่งเป็น 3 วัย ได้แก่ ยังไม่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน, วัยที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่วัยหมดประจำเดือน และวัยหมดประจำเดือนแล้ว พบว่า มีผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว มีโอกาสที่จะปวดหัวบ่อยขึ้น กว่า 76% เมื่อเทียบกับผู้หญิงที่ยังไม่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน 

.

/พญ.ณดลพร 

Footer Tele Blog - Ai1000.png

กลับไปยังบล็อก

บทความอื่นที่คุณอาจสนใจ