ไมเกรนเป็นโรคปวดศีรษะเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีการใช้ยาแก้ปวดบ่อยครั้ง ซึ่งอาจนำไปสู่ ภาวะการใช้ยาเกิน (Medication Overuse Headache: MOH) งานวิจัยระบุว่าประมาณ 50% ของผู้ป่วยไมเกรนเรื้อรัง มีการใช้ยาแก้ปวดมากเกินไปจนเกิดภาวะ MOH โดยเฉพาะในกลุ่มที่ใช้ยาบรรเทาอาการเป็นประจำ เช่น ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs หรือยาต้านไมเกรนแบบเฉพาะ (Triptans หรือ Erogotamine)
การวินิจฉัยภาวะ MOH อ้างอิงตามหลักเกณฑ์การวินิจฉัยของ International Classification Headache Disorder - 3 สามารถอธิบายได้ดังนี้
A. มีอาการปวดศีรษะเกิดขึ้นอย่างน้อย 15 วัน/ เดือน เป็นระยะเวลามากกว่า 3 เดือน ในผู้ป่วยที่มีภาวะปวดศีรษะแบบปฐมภูมิ (Pimary Headache) หรือปวดศีรษะที่ยังไม่ทราบสาเหตุ หนึ่งในนั้นคือ ไมเกรน อยู่ก่อนแล้ว
B. มีประวัติการใช้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดศีรษะอย่างต่อเนื่องเป็นเวลามากกว่า 3 เดือน ด้วยความถี่ของการใช้ยาดังนี้
- ใช้ยาแก้ปวดในกลุ่ม Ergotamine / Triptan / Opioids มากกว่าหรือเท่ากับ 10 วัน/เดือน
- ใช้ยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs / พาราเซตามอล มากกว่าหรือเท่ากับ 15 วัน/เดือน
ซึ่งการใช้ยาแก้ปวดเกินขนาดส่งผลผู้ป่วยเกิดอาการปวดศีรษะรุนแรงหากไม่ได้ใช้ยาแก้ปวด และทำให้ผู้ป่วยต้องใช้ยาแก้ปวดในปริมาณที่มากขึ้นเพื่อระงับอาการปวด และในบางครั้งแม้ว่าผู้ป่วยจะใช้ยามากขึ้นก็ไม่สามารถระงับอาการปวดดังกล่าวได้ ภาวะนี้ไม่เพียงส่งผลต่อการจัดการโรคไมเกรน แต่ยังทำให้สมองเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนและมีผลกระทบในระยะยาว
สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในสมองของผู้ป่วยไมเกรนที่มีการใช้ยาแก้ปวดบ่อย
1. การเกิดภาวะไวต่อความเจ็บปวด (Central Sensitization)
การใช้ยาแก้ปวดซ้ำๆ สามารถกระตุ้นให้ระบบประสาทส่วนกลางไวต่อสิ่งเร้าความเจ็บปวดมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดจากสิ่งที่ปกติไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด (allodynia) และทำให้อาการปวดศีรษะถี่และรุนแรงขึ้น
2. การเปลี่ยนแปลงของการทำงานในสมอง (Altered Brain Activity)
การใช้ยาแก้ปวดต่อเนื่องอาจส่งผลต่อความไวของเซลล์ประสาทในสมอง เช่น ก้านสมองและเยื่อหุ้มสมองส่วนประมวลผลความรู้สึก (S1) การวิจัยพบว่าความไวของสมองต่อสิ่งเร้าจะเพิ่มขึ้นในช่วงก่อนปวดศีรษะ (preictal phase) และลดลงในช่วงปวด
3. ความไม่สมดุลของสารสื่อประสาท (Neurotransmitter Dynamics)
การใช้ยาแก้ปวดบ่อยทำให้สมดุลของสารสื่อประสาท เช่น เซโรโทนิน (serotonin) และสาร CGRP ที่เกี่ยวข้องกับไมเกรนแปรปรวน ส่งผลให้สมองไวต่อสิ่งกระตุ้นและกระตุ้นอาการไมเกรนได้ง่ายขึ้น
4. วงจรป้อนกลับของการไวต่อความเจ็บปวด (Feedback Loop of Sensitization)
การใช้ยาแก้ปวดซ้ำๆ นำไปสู่การเพิ่มความไวต่อความเจ็บปวด ทำให้ผู้ป่วยต้องใช้ยาบ่อยขึ้น ซึ่งสร้างวงจรที่ทำให้อาการปวดศีรษะเรื้อรังและจัดการได้ยาก
5. ปัจจัยทางจิตวิทยา (Psychological Factors)
ความเครียด วิตกกังวล หรือภาวะซึมเศร้าอาจทำให้ผู้ป่วยพึ่งพาการใช้ยาแก้ปวดมากขึ้น ทั้งเพื่อบรรเทาอาการปวดและจัดการปัญหาทางอารมณ์
ดังนั้น การใช้ยาแก้ปวดบ่อยในผู้ป่วยไมเกรนสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนในสมอง ซึ่งไม่เพียงเพิ่มความรุนแรงและความถี่ของอาการปวด แต่ยังทำให้การรักษาโรคไมเกรนยากขึ้น การวางแผนการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงการลดการใช้ยาแก้ปวดอย่างเหมาะสม จึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันภาวะ MOH และช่วยสร้างคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยในระยะยาว